วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2567 อาจารย์ ดร.ฐิระ ทองเหลือ คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ - ชุมพร ร่วมเวทีเสวนา หัวข้อ “การจัดการเปลือกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชุมพร” ว่าที่ร้อยตรีขจรรักษ์ พู่พัฒนศิลป์ นักวิชาการเกษตร งานบริการวิชาการและวิจัย บรรยายในหัวข้อ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกทุเรียนโดยไม่พลิกกลับกองด้วยวิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 และนายวันชัย ล่องอำไพ นักวิชาการศึกษา ประชาสัมพันธ์การรับสมัครนักศึกษาเพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - ชุมพร ในงาน “วัน Kick-Off สร้างมูลค่าเปลือกทุเรียนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการวัสดุเหลือใช้จากการผลิตทุเรียน จัดโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ณ วิสาหกิจชุมชนหลังสวนพัฒนายั่งยืน ตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
ทั้งนี้ งานบริการวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - ชุมพร ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับวิสาหกิจชุมชนหลังสวนพัฒนายั่งยืน ในการนำเปลือกทุเรียนที่เหลือจากอุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียนส่งออก ของบริษัทหนงไทย อินเตอร์เนชั่นแนล สาขาหลังสวน ซึ่งในแต่ละปีมีเปลือกทุเรียนราว 3 ล้านกิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพต่อยอดเป็นดินปลูกคุณภาพดี มีปุ๋ยอินทรีย์ช่วยลดต้นทุนการผลิตทุเรียนเพื่อการส่งออก นับว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Zero Waste ลดขยะให้เหลือศูนย์ และยังสอดคล้องกับ BCG โมเดล เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นต้นแบบของการจัดการเปลือกทุเรียนระดับประเทศต่อไป