มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร
Maejo University at Chumphon โทร. 077-544068

ประวัติความเป็นมา

   :: ประวัติความเป็นมา ::


         มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงาน ภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพรโดยประกาศสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงวันที่ 21 มีนาคม 2547 มีฐานะเทียบเท่าส่วนราชการระดับคณะและให้จัดการเรียนการสอนเป็นแบบวิทยาเขต โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา วิจัย บริการทางวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ภายในขอบเขตและศักยภาพของสถาบันการศึกษาของรัฐไปยังพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ณ ชายฝั่งทะเล ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ซึ่งได้รับการสนับสนุนและจัดหาโดย อดีตรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร (นายประมวล กุลมาตย์) ประกอบกับความต้องการของชาวชุมพร ที่อยากให้มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ  ซึ่งทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร ได้ดำเนินการภายใต้พันธกิจของมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปัจจุบัน  ได้ผลิตบัณฑิตรุ่นแรก ได้สำเร็จในปีการศึกษา  2545  และขยายการศึกษาเพิ่มเป็น 4 หลักสูตร โดยสรุปประวัติและความเป็นมาของหน่วยงานได้ดังนี้)
       >>  ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (นายบุญนาค  สายสว่าง) ได้ลงนามในคำสั่งจังหวัดชุมพรที่ 18/2523      ลงวันที่ 7 มกราคม 2523 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร วิทยาเขตชุมพร
        >>  ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (นายบุญนาค  สายสว่าง) ได้มีหนังสือที่ ชพ 2/1379  ลงวันที่  23 มกราคม 2523 ขอให้สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร (มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ในขณะนั้น)  พิจารณาจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาทางการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขตอำเภอละแม จังหวัดชุมพร
           >>  สภาสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร (เดิม) ได้พิจารณาในการประชุมเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2523 รับหลักการและแต่งตั้งกรรมการชุดหนึ่ง เพื่อกำหนดแผนดำเนินงานกับคณะกรรมการจังหวัดชุมพร อย่างไรก็ดีสภาสถาบันฯ มีความเห็นโดยสรุปว่า การจัดตั้งเป็นวิทยาเขตนั้นคงต้องอาศัยเวลา และงบประมาณสนับสนุน และที่สำคัญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทบวงมหาวิทยาลัย ให้บรรจุไว้ในแผนการศึกษาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ในระยะแรกของการจัดตั้งให้ดำเนินงานเป็นศูนย์ไร่ฝึกนักศึกษาและการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาในการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น และงานวิจัยทางการเกษตรของท้องถิ่น
             >> วันที่ 27 มิถุนายน 2523 นายวิภาต บุญศรี วังซ้าย อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ที่ ทม 1301/1065 เรื่องการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร วิทยาเขตชุมพร โดยแจ้งว่าสภาสถาบันฯ ในขณะนั้นได้มีมติรับหลักการ
      >> กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุมัติให้สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้เข้าใช้พื้นที่ป่าไม้เคี่ยมในท้องที่ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร พื้นที่ 1,750 ไร่ ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 137 (พ.ศ. 2505) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช 2481 เพื่อจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 104 ตอนที่ 97  วันที่ 26 พฤษภาคม 2530)
         >>  วันที่ 29 ตุลาคม 2543 ได้มีประกาศสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรื่องการแบ่งหน่วยงานของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นการภายใน โดยให้แบ่งหน่วยงานในสำนักงานอธิการบดี เพิ่มเติมเป็นการภายใน ได้แก่ โครงการจัดตั้งสำนักสหวิชาการละแม และให้มีงานเลขานุการในโครงการจัดตั้งสำนักสหวิชาการละแม
          >> เมื่อวันที่  31 ธันวาคม 2546  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับหนังสือจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ฝ่ายจัดประโยชน์ ตามหนังสือที่  กค 0309.68/22732  โดยได้รับรายการที่ดินตามกระทรวง ฉบับที่ 1201 (พ.ศ.2530 ) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507  เพิกถอนป่าไม้เคี่ยมจังหวัดชุมพรประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104 ตอนที่ 97 วันที่  26  พฤษภาคม  2530  เพื่อจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้วิทยาเขตชุมพร  (โครงการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร) จำนวน  6 แปลง  รวมเนื้อที่ประมาณ 2005-3-45 ไร่  ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุไว้เป็นแปลงหมายเลขทะเบียนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของโครงการมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของโครงการมหาวิทยาลัยแม่โจ้  จึงได้เสนอขอจัดตั้งเป็น “สำนักสหวิชาการ” ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) ต่อทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้จัดตั้ง “สำนักสหวิชาการ”  เป็นการภายใน
          >> วันที่ 21 มีนาคม 2547  สภามหาวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่  2/2547  พิจารณาเห็นสมควรให้สำนักสหวิชาการละแม  จังหวัดชุมพร  มีฐานะเทียบเท่าส่วนราชการระดับคณะ และให้จัดการเรียนการสอนเป็นแบบวิทยาเขต  โดยเห็นชอบให้ใช้ชื่อ “โครงการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร” เป็นหน่วยงานภายในมีฐานะเป็นส่วนราชการระดับคณะ และให้จัดการบริหารงานเป็นแบบวิทยาเขต เพื่อสนองวัตถุประสงค์ของโครงการ  อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ตอนบน  ซึ่งจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามมติดังกล่าวต่อไป
       มติที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 16/2549 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 ได้มีมติให้ตัดคำว่า “โครงการ” นำหน้าชื่อหน่วยงานออกคือ โครงการมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ให้ใช้เป็น “มหาวิทยาลัยแม่โจ้ -ชุมพร”
            ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร เป็นหน่วยงานที่เทียบเท่าคณะ สังกัดสำนักงานอธิการบดี มีคณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร เป็นผู้บริหาร ทั้งนี้มีหน่วยงานประสานงานเป็นหน่วยงานตั้งอยู่ในสำนักงานอธิการบดี โดยมีภารกิจประจำที่พื้นที่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 2005-3-45 ไร่ ที่อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
   :: สถานที่ตั้ง ::
    ทิศเหนือ          ติดต่อ     ที่ราษฎรหมู่ที่ 1 และ ปากคลองละแม
    ทิศตะวันออก    ติดต่อ     ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
    ทิศตะวันตก      ติดต่อ     ที่ราษฎรหมู่ 1 , 5
    ทิศใต้               ติดต่อ     ที่ราษฎรหมู่ที่ 5 และ คลองหนองบัว
      ความยาวของพื้นที่ในแนวเหนือ - ใต้ ประมาณ 4 กม. ตลอดแนวชายฝั่ง
 
          ศูนย์ประสานงานแม่โจ้-ชุมพร ชั้น 3 สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50290 
         โทรศัพท์ 053-875713
 
           สำนักงานโครงการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ - ชุมพร จังหวัดชุมพร ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ 5 บ้านแหลมสันติ ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร 86170

             โทรศัพท์ 077-544068,081-8392567   โทรสาร 077-544068
             http://www.chumphon.mju.ac.th

             E-mail : sarabanmaejochumphon@gmail.com

 

ปรัชญา

        มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร ยึดปรัชญาตามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คือ มุ่งมั่นพัฒนาบัณฑิตสู่ความเป็นผู้อุดมด้วยปัญญาอดทน สู้งาน เป็นผู้มีคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อความเจริญรุ่งเรือง วัฒนา ของสังคมไทยที่มีการเกษตรเป็นรากฐาน

วิสัยทัศน์

มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการเกษตรสุขภาวะระดับชาติ

พันธกิจ

  1. พัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต(Lifelong Learning) คุณธรรมจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม
  2. ศึกษาและวิจัยด้านการเกษตรสุขภาวะ (well-being) เพื่อพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
  3. ส่งเสริมการบริการวิชาการด้านการเกษตรเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างทักษะวิชาชีพ
  4. ส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
  5. พัฒนาระบบการบริหารให้มีประสิทธิภาพโดยยึดหลักธรรมาภิบาล