มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร
Maejo University at Chumphon โทร. 077-544068

      มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ก่อเจดีย์ทราย และเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี

      สงกรานต์สุขใจ “ดื่มไม่ขับ ง่วงจอดพัก เล่นสาดน้ำด้วยความระวัง”

      ประวัติวันสงกรานต์ หรือ วันมหาสงกรานต์ ได้รับอิทธิพลมาจาก “เทศกาลโฮลี” ของประเทศอินเดีย แต่วันสงกรานต์ของไทยเปลี่ยนจากการสาดสี เป็นการสาดน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนในเดือนเมษายน และในอีกแง่หนึ่งมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ดังนั้น การเล่นสาดน้ำและประแป้งกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะไม่ถือโทษโกรธกัน

      คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า “การเคลื่อนย้าย” โดยเชื่อว่าในวันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี อีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ คนไทยจึงยึดถือวันสงกรานต์เป็น “วันขึ้นปีใหม่ไทย” มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่ง พ.ศ. 2483 ก่อนจะปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยม ซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ทั้งนี้ การละเล่นสงกรานต์ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ลาว รวมถึงบางพื้นที่ของเวียดนาม จีน ศรีลังกา และอินเดีย

      กิจกรรมช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ นิยมทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ เล่นสาดน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ คนทำงานต่างจังหวัดหรือไกลครอบครัว ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อฉลองวันปีใหม่ไทย รวมถึงกล่าวคำอวยพร “สุขสันต์วันสงกรานต์” และ “สวัสดีวันสงกรานต์” ให้แก่กัน นอกจากนี้ แหล่งท่องเที่ยวสำหรับจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้วันสงกรานต์ของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

       อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

      ทั้งนี้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564

ปรับปรุงข้อมูล : 13/4/2567 22:35:29     ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 725

กลุ่มข่าวสาร : ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวล่าสุด

ม.แม่โจ้-ชุมพร ฝึกอบรม “อนุรักษ์พันธุกรรมไผ่ภาคใต้” สนองงานตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
วันที่ 24 กรกฎาคม 2567  เวลา 13.00 น. บริเวณโครงการไผ่เพื่อน้อง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ชุมพร อาจารย์ ดร.ฐิระ ทองเหลือ คณบดี เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมฝึกอบรม “อนุรักษ์พันธุกรรมไผ่ภาคใต้” ว่าที่ร้อยตรีขจรรักษ์ พู่พัฒนศิลป์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การฝึกอบรม มีนักศึกษาใหม่ แม่โจ้รุ่น 89 ผู้นำนักศึกษา และเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพร เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน นายกิตติภณ ถึงศรี ประธานชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ภาคใต้ ได้มอบหมายให้ นายอุดมศักดิ์ เฉลิมพนาพันธ์ รองประธานชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ภาคใต้ และประธานชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ จังหวัดชุมพร เข้าร่วมกิจกรรมและกล่าวต้อนรับนักศึกษาใหม่ ใจความว่า  “ต้นไผ่ในแปลงแห่งนี้  เป็นไผ่ที่รุ่นพี่ของพวกเราได้ร่วมกันปลูก เพื่อให้รุ่นน้องและมหาวิทยาลัยได้ใช้ประโยชน์ทางการศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อาทิ นำไปทำอาหาร ไปฝากโรงเรียนต่างๆในชุมชน วันนี้เป็นโอกาสดี  ที่เราได้ร่วมกันปลูกไผ่ ใส่ปุ๋ย  สืบสานเจตนารมณ์ของรุ่นพี่  ช่วยกันดูแลให้เป็นไผ่รวมกอ เติบโต เปรียบเสมือนความรักความสามัคคีของลูกแม่โจ้ ขอให้น้องๆช่วยกันสานต่อสิ่งดีๆเหล่านี้ไว้ครับ”  พร้อมกันนี้ นางสาวยุพาพร สวัสดี พาณิชย์จังหวัดชุมพร ได้พบปะผู้เข้าอบรมและประชาสัมพันธ์กิจกรรม "แจกกล่องบรรจุภัณฑ์ผลไม้พร้อมสติกเกอร์ยกเว้นค่าขนส่งกับไปรษณีย์ไทย" ประจำปี 2567 โดยเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการตลาดออนไลน์ ช่วยกระจายผลผลิตผลไม้ในช่วงฤดูกาล และสนับสนุนผู้ค้าผลไม้ออนไลน์ ทั้งนี้ กิจกรรมฝึกอบรม “อนุรักษ์พันธุกรรมไผ่ภาคใต้”  ได้สร้างสรรค์กิจกรรมเสริม คือ “พี่ปลูกไผ่ น้องใส่ปุ๋ย  และบูรณาการร่วมกับโครงการ ไผ่เพื่อน้อง เพื่อสนองงานพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนสร้างแปลงอนุรักษ์พันธุกรรมไผ่ สู่การเรียนรู้ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไผ่ (ป่าไผ่) อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ ชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ ภาคใต้ และศิษย์เก่าแม่โจ้ทั่วประเทศ ร่วมสนองงานตามพระราชดำริ ผ่านโครงการไผ่เพื่อน้องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม โครงการแปลงรวบรวมชนิดพันธุ์ไผ่ท้องถิ่นภาคใต้  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี 2567 โดยมีว่าที่ร้อยตรีขจรรักษ์ พู่พัฒนศิลป์ นักวิชาการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
25 กรกฎาคม 2567     |      107
สาขาวิชารัฐศาสตร์ร่วมกับศาลปกครองนครศรีธรรมราช จัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาลปกครอง
วันที่ 23 กรกฏาคม 2567 เวลา 13.30 น. สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ชุมพร ร่วมกับสำนักงานศาลปกครองนครศรีธรรมราช จัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง และการยื่นฟ้องคดีปกครองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้นักศึกษา ประชาชน และเจ้าหน้าของรัฐ ทราบช่องทางหรือวิธีการรับบริการต่างๆของศาลปกครองได้อย่างถูกต้อง โดยมีนายจักรพงษ์ นิลพรหม ผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองนครศรีธรรมราช  และคณะเป็นวิทยากรบรรยายพร้อมกับให้คำปรึกษาทางคดีปกครอง นางสาวตรีชฎา สุวรรณโณ ผู้อำนวยการสำนักงานคณบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพรผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุมพล อังคณานนท์ หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพรว่าที่ร้อยตรี ดร.อนิรุต หนูปลอด ประธานหลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ เป็นผู้แทนให้การต้อนรับ การอบรมดังกล่าว มีบริการให้คำปรึกษาปัญหาคดีปกครอง จัดนิทรรศการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง แนะนำระบบงานคดีอิเล็กทรอนิกส์ และการพิจารณาคดีทางจอภาพ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พร้อมทั้งแนะนำบริการต่างๆอาทิ การจองคิวขอรับคำปรึกษาออนไลน์  มีบุคลากร นักศึกษา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องที่ ในอำเภอเข้าร่วมกว่า 100 คน
24 กรกฎาคม 2567     |      241
ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร จัดอบรมปฎิบัติการ หลักสูตร “5 องค์ประกอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน”
วันที่ 23 กรกฏาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้อง 204 (อาคารแม่โจ้ 80 ปี)  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลวรรณ ศุภวิญญู รองคณบดีฯฝ่ายวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมปฎิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน รุ่นที่ 1/2567 หลักสูตร “5 องค์ประกอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน”  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ชลดรงค์ ทองสง หัวหน้าโครงการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การอบรม และมีผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จำนวน 9 โรงเรียน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 1 โรงเรียน และกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 วิทยาลัย  เข้าร่วมกว่า 23 คน พร้อมกันนี้ นางสาวสุภัคกมล ชินวงค์ ศึกษาธิการจังหวัดชุมพร กล่าวต้อนรับและให้กำลังใจแก่ผู้เข้าอบรม  “โดยให้มุ่งมั่น ตั้งใจ ร่วมกันคิด ร่วมกันปฎิบัติ  เพื่อขับเคลื่อนงานสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทรัพยากรชีวภาพ กายภาพในท้องถิ่นของตน ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ได้รับ ไปเสริมสร้างการเรียนรู้ของนักเรียน เยาวชน และสังคม สืบสานพระราชปณิธาน รักษาฐานทรัพยากรแผ่นดิน ต่อไป”จากนั้น พ.ต.ท. ไพโรจน์ นิลรัตน์ ผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 41 นายวิบูลย์ เกลี้ยงสงค์ ปลัดอำเภอละแม และนายมาโนช ชูสำราญ ประธานศูนย์เครือข่ายอำเภอละแม กล่าวต้อนรับและให้กำลังใจแก่ผู้เข้าอบรม ทั้งนี้ การอบรมมีทั้งบรรยายและฝึกปฎิบัติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 กรกฏาคม 2567 โดยวิทยากร นายมรกต วัชระมุสิก เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) สำนักพระราชวัง สวนจิตรลดา และทีมวิทยากรโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ทั้งนี้  5 องค์ประกอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ประกอบด้วย     องค์ประกอบที่ 1 : การจัดทำป้ายชื่อพรรณไม้    องค์ประกอบที่ 2 : การรวบรวมพันธุ์ไม้เข้าปลูกในโรงเรียน    องค์ประกอบที่ 3 : การศึกษาข้อมูลต่างๆ    องค์ประกอบที่ 4 : การรายงานผลการเรียนรู้    องค์ประกอบที่ 5 : การนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาอย่างไรก็ตาม การอบรมปฎิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน รุ่นที่ 1/2567 หลักสูตร “5 องค์ประกอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน”  มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมสนองพระราชดำริภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีการจัดการทรัพยากรที่สมดุล เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันจะนำไปสู่แหล่งรวบรวมพันธุ์พืชชนิดต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสนับสนุนการอนุรักษ์ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาบนพื้นฐานคุณธรรม เพื่อประโยชน์ของสังคม และประเทศชาติต่อไป
26 กรกฎาคม 2567     |      226