มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร
Maejo University at Chumphon โทร. 077-544068

                วันที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 08.30 น. นายสุนทร จอมเมือง นายอำเภอละแม เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ภายใน มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร (คาวบอยเกมส์ ครั้งที่ 21) “น้ำใจไมตรี สามัคคี และมิตรภาพโดยมีวงโยธวาทิต จากโรงเรียนสวนศรีวิทยา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร นำขบวนพาเหรดนักกีฬาเข้าสู่สนาม และอาจารย์ ดร.ภาวิดา รังษี รองคณบดีฯฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ กล่าวรายงานการจัดการแข่งขัน ณ สนามกีฬา มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร

              การแข่งขันกีฬาการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ภายใน มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ในครั้งนี้ แบ่งสีการแข่งขันสามสี คือ สีขาว สีเขียว และสีเหลือง มีการแข่งขันกีฬาสากลหลายประเภท อาทิ ฟุตซอล วอลเลย์บอล เซปักตะกร้อ เปตอง โดยจัดการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 18-24 ธันวาคม 2566 นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน อาทิ วิ่งกระสอบ เก้าอี้ดนตรี กินวิบาก  ปิดตามตีปิ๊บ   บรรยากาศเป็นไปความสนุกสนาน ความรักความสามัคคี ความมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นนักกีฬา ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษาแต่ละสาขา อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป 

                อย่างไรก็ตาม  “การเล่นกีฬา” ไม่เพียงแต่ได้สุขภาพที่ดี สนุกสนาน หรือออกกำลังกาย เพียงอย่างเดียว แต่การเล่นกีฬานั้นจะสามารถช่วยพัฒนาได้ในหลากหลายด้าน ดังนี้

      1.ด้านสุขภาพกาย การออกกำลังกายสามารถช่วยปรับสภาพความสมดุลให้ทำงานปกติ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย

      2.ด้านสุขภาพใจ การเล่นกีฬาทำให้รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเองมากขึ้น รู้จักแพ้ รู้จักชนะ นำไปสู่การพัฒนาทางด้านจิตใจ เรียนรู้ทางอารมณ์ รู้จักเคารพ ให้เกียรติตนเองและผู้อื่น

      3.ด้านสังคม ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หลีกเลี่ยงอบายมุขสิ่งเสพติด ตลอดจนช่วยเสริมสร้างวินัย และฝึกความเป็นน้ำใจนักกีฬา

ปรับปรุงข้อมูล : 25/12/2566 14:35:11     ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 253

กลุ่มข่าวสาร : ข่าวกิจกรรม

ข่าวล่าสุด

ม.แม่โจ้-ชุมพร ฝึกอบรม “อนุรักษ์พันธุกรรมไผ่ภาคใต้” สนองงานตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
วันที่ 24 กรกฎาคม 2567  เวลา 13.00 น. บริเวณโครงการไผ่เพื่อน้อง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ชุมพร อาจารย์ ดร.ฐิระ ทองเหลือ คณบดี เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมฝึกอบรม “อนุรักษ์พันธุกรรมไผ่ภาคใต้” ว่าที่ร้อยตรีขจรรักษ์ พู่พัฒนศิลป์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การฝึกอบรม มีนักศึกษาใหม่ แม่โจ้รุ่น 89 ผู้นำนักศึกษา และเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพร เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน นายกิตติภณ ถึงศรี ประธานชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ภาคใต้ ได้มอบหมายให้ นายอุดมศักดิ์ เฉลิมพนาพันธ์ รองประธานชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ภาคใต้ และประธานชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ จังหวัดชุมพร เข้าร่วมกิจกรรมและกล่าวต้อนรับนักศึกษาใหม่ ใจความว่า  “ต้นไผ่ในแปลงแห่งนี้  เป็นไผ่ที่รุ่นพี่ของพวกเราได้ร่วมกันปลูก เพื่อให้รุ่นน้องและมหาวิทยาลัยได้ใช้ประโยชน์ทางการศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อาทิ นำไปทำอาหาร ไปฝากโรงเรียนต่างๆในชุมชน วันนี้เป็นโอกาสดี  ที่เราได้ร่วมกันปลูกไผ่ ใส่ปุ๋ย  สืบสานเจตนารมณ์ของรุ่นพี่  ช่วยกันดูแลให้เป็นไผ่รวมกอ เติบโต เปรียบเสมือนความรักความสามัคคีของลูกแม่โจ้ ขอให้น้องๆช่วยกันสานต่อสิ่งดีๆเหล่านี้ไว้ครับ”  พร้อมกันนี้ นางสาวยุพาพร สวัสดี พาณิชย์จังหวัดชุมพร ได้พบปะผู้เข้าอบรมและประชาสัมพันธ์กิจกรรม "แจกกล่องบรรจุภัณฑ์ผลไม้พร้อมสติกเกอร์ยกเว้นค่าขนส่งกับไปรษณีย์ไทย" ประจำปี 2567 โดยเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการตลาดออนไลน์ ช่วยกระจายผลผลิตผลไม้ในช่วงฤดูกาล และสนับสนุนผู้ค้าผลไม้ออนไลน์ ทั้งนี้ กิจกรรมฝึกอบรม “อนุรักษ์พันธุกรรมไผ่ภาคใต้”  ได้สร้างสรรค์กิจกรรมเสริม คือ “พี่ปลูกไผ่ น้องใส่ปุ๋ย  และบูรณาการร่วมกับโครงการ ไผ่เพื่อน้อง เพื่อสนองงานพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนสร้างแปลงอนุรักษ์พันธุกรรมไผ่ สู่การเรียนรู้ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไผ่ (ป่าไผ่) อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ ชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ ภาคใต้ และศิษย์เก่าแม่โจ้ทั่วประเทศ ร่วมสนองงานตามพระราชดำริ ผ่านโครงการไผ่เพื่อน้องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม โครงการแปลงรวบรวมชนิดพันธุ์ไผ่ท้องถิ่นภาคใต้  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี 2567 โดยมีว่าที่ร้อยตรีขจรรักษ์ พู่พัฒนศิลป์ นักวิชาการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
25 กรกฎาคม 2567     |      120
สาขาวิชารัฐศาสตร์ร่วมกับศาลปกครองนครศรีธรรมราช จัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาลปกครอง
วันที่ 23 กรกฏาคม 2567 เวลา 13.30 น. สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ชุมพร ร่วมกับสำนักงานศาลปกครองนครศรีธรรมราช จัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง และการยื่นฟ้องคดีปกครองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้นักศึกษา ประชาชน และเจ้าหน้าของรัฐ ทราบช่องทางหรือวิธีการรับบริการต่างๆของศาลปกครองได้อย่างถูกต้อง โดยมีนายจักรพงษ์ นิลพรหม ผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองนครศรีธรรมราช  และคณะเป็นวิทยากรบรรยายพร้อมกับให้คำปรึกษาทางคดีปกครอง นางสาวตรีชฎา สุวรรณโณ ผู้อำนวยการสำนักงานคณบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพรผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุมพล อังคณานนท์ หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพรว่าที่ร้อยตรี ดร.อนิรุต หนูปลอด ประธานหลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ เป็นผู้แทนให้การต้อนรับ การอบรมดังกล่าว มีบริการให้คำปรึกษาปัญหาคดีปกครอง จัดนิทรรศการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง แนะนำระบบงานคดีอิเล็กทรอนิกส์ และการพิจารณาคดีทางจอภาพ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พร้อมทั้งแนะนำบริการต่างๆอาทิ การจองคิวขอรับคำปรึกษาออนไลน์  มีบุคลากร นักศึกษา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องที่ ในอำเภอเข้าร่วมกว่า 100 คน
24 กรกฎาคม 2567     |      253
ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร จัดอบรมปฎิบัติการ หลักสูตร “5 องค์ประกอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน”
วันที่ 23 กรกฏาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้อง 204 (อาคารแม่โจ้ 80 ปี)  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลวรรณ ศุภวิญญู รองคณบดีฯฝ่ายวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมปฎิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน รุ่นที่ 1/2567 หลักสูตร “5 องค์ประกอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน”  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ชลดรงค์ ทองสง หัวหน้าโครงการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การอบรม และมีผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จำนวน 9 โรงเรียน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 1 โรงเรียน และกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 วิทยาลัย  เข้าร่วมกว่า 23 คน พร้อมกันนี้ นางสาวสุภัคกมล ชินวงค์ ศึกษาธิการจังหวัดชุมพร กล่าวต้อนรับและให้กำลังใจแก่ผู้เข้าอบรม  “โดยให้มุ่งมั่น ตั้งใจ ร่วมกันคิด ร่วมกันปฎิบัติ  เพื่อขับเคลื่อนงานสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทรัพยากรชีวภาพ กายภาพในท้องถิ่นของตน ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ได้รับ ไปเสริมสร้างการเรียนรู้ของนักเรียน เยาวชน และสังคม สืบสานพระราชปณิธาน รักษาฐานทรัพยากรแผ่นดิน ต่อไป”จากนั้น พ.ต.ท. ไพโรจน์ นิลรัตน์ ผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 41 นายวิบูลย์ เกลี้ยงสงค์ ปลัดอำเภอละแม และนายมาโนช ชูสำราญ ประธานศูนย์เครือข่ายอำเภอละแม กล่าวต้อนรับและให้กำลังใจแก่ผู้เข้าอบรม ทั้งนี้ การอบรมมีทั้งบรรยายและฝึกปฎิบัติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 กรกฏาคม 2567 โดยวิทยากร นายมรกต วัชระมุสิก เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) สำนักพระราชวัง สวนจิตรลดา และทีมวิทยากรโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ทั้งนี้  5 องค์ประกอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ประกอบด้วย     องค์ประกอบที่ 1 : การจัดทำป้ายชื่อพรรณไม้    องค์ประกอบที่ 2 : การรวบรวมพันธุ์ไม้เข้าปลูกในโรงเรียน    องค์ประกอบที่ 3 : การศึกษาข้อมูลต่างๆ    องค์ประกอบที่ 4 : การรายงานผลการเรียนรู้    องค์ประกอบที่ 5 : การนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาอย่างไรก็ตาม การอบรมปฎิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน รุ่นที่ 1/2567 หลักสูตร “5 องค์ประกอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน”  มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมสนองพระราชดำริภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีการจัดการทรัพยากรที่สมดุล เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันจะนำไปสู่แหล่งรวบรวมพันธุ์พืชชนิดต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสนับสนุนการอนุรักษ์ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาบนพื้นฐานคุณธรรม เพื่อประโยชน์ของสังคม และประเทศชาติต่อไป
26 กรกฎาคม 2567     |      227