มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร
Maejo University at Chumphon โทร. 077-544068

      มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ก่อเจดีย์ทราย และเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี

      สงกรานต์สุขใจ “ดื่มไม่ขับ ง่วงจอดพัก เล่นสาดน้ำด้วยความระวัง”

      ประวัติวันสงกรานต์ หรือ วันมหาสงกรานต์ ได้รับอิทธิพลมาจาก “เทศกาลโฮลี” ของประเทศอินเดีย แต่วันสงกรานต์ของไทยเปลี่ยนจากการสาดสี เป็นการสาดน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนในเดือนเมษายน และในอีกแง่หนึ่งมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ดังนั้น การเล่นสาดน้ำและประแป้งกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะไม่ถือโทษโกรธกัน

      คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า “การเคลื่อนย้าย” โดยเชื่อว่าในวันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี อีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ คนไทยจึงยึดถือวันสงกรานต์เป็น “วันขึ้นปีใหม่ไทย” มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่ง พ.ศ. 2483 ก่อนจะปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยม ซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ทั้งนี้ การละเล่นสงกรานต์ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ลาว รวมถึงบางพื้นที่ของเวียดนาม จีน ศรีลังกา และอินเดีย

      กิจกรรมช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ นิยมทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ เล่นสาดน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ คนทำงานต่างจังหวัดหรือไกลครอบครัว ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อฉลองวันปีใหม่ไทย รวมถึงกล่าวคำอวยพร “สุขสันต์วันสงกรานต์” และ “สวัสดีวันสงกรานต์” ให้แก่กัน นอกจากนี้ แหล่งท่องเที่ยวสำหรับจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้วันสงกรานต์ของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

       อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

      ทั้งนี้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564

ปรับปรุงข้อมูล : 13/4/2567 22:35:29     ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 860

กลุ่มข่าวสาร : ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวล่าสุด

คณบดี ม.แม่โจ้-ชุมพรและประธานหลักสูตรพืชศาสตร์ ร่วมประชุมปรึกษาหารือการแก้ปัญหาทุเรียนไทยในตลาดจีน
      วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2567 อาจารย์ ดร.ฐิระ ทองเหลือ คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพรพร้อม และอาจารย์ ดร.จิระศักดิ์ วิชาสวัสดิ์ ประธานหลักสูตรพืชศาสตร์ เข้าร่วมประชุมและปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการด้านส่งออกทุเรียน ตัวแทนจากสภาหอการค้าไทย-จีน นายเชาว์ชัย เจียมวิจิตร ประธานอนุกรรมการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ นายสุบรรณ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดชุมพร และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้นำกลุ่มเกษตรกร ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร      การประชุมหารือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนไทย ตลอดจนแก้ปัญหาและแก้ไขสวมสิทธิ์ GAP, การสร้างแบรนด์ทุเรียนพรีเมี่ยมเพื่อส่งออกจีน,รวมทั้งการสร้างตลาดที่มั่นคง โดยที่ประชุมขอให้ ศูนย์ทุเรียนชุมพร Durain Academy มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ในฐานะสถาบันการศึกษา ช่วยกันผลักดันในเรื่องการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน พัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการ ร่วมกับสภาเกษตรและภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับการผลิตทุเรียนและการสร้างมาตรฐานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการยกระดับสินค้าทุเรียนไทยให้กลายเป็นสินค้าพรีเมี่ยมในตลาดต่างประเทศต่อไป
21 พฤศจิกายน 2567     |      14
สาขาวิชาการท่องเที่ยวและบริการ ประชุมประสานสถาบันการศึกษา รับสมัครนักศึกษา ประจำปีการศึกษา 2568
      สาขาวิชาการท่องเที่ยวและบริการ นำโดยอาจารย์ดร.วีระภรณ์ โตคีรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบจมาศ ณ ทองแก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชลดรงค์ ทองสง อาจารย์ ดร.จุฑามาส เพ็งโคนา และผู้ช่วยศาสตราจารย์อำนาจ รักษาพล ประสานสถาบันการศึกษาเป้าหลักสำหรับการรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อสาขาวิชาการท่องเที่ยวและบริการ และสาขาวิชาอื่นๆ ปีการศึกษา 2568 ตามความสนใจ ทั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพห้วยยอด, วิทยาลัยเทคนิคตรัง จังหวัดตรัง และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดกระบี่      ในการนี้ ได้หารือร่วมกันเรื่องการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ควบคู่กับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนและหนุนเสริมทางวิชาการ ระหว่างคณาจารย์และนักเรียน ผ่านระะออไลน์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
21 พฤศจิกายน 2567     |      13
สาขาวิชาการท่องเที่ยวและบริการ เข้าร่วมประชุมออนไลน์ ชี้แจงแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
สาขาวิชาการท่องเที่ยวและบริการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร เข้าร่วมประชุมออนไลน์ การประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 รายแนวทางเพิ่มเติมร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพแนวทางที่ 2 พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและส่งเสริมความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวร่วมกับกรมการท่องเที่ยว ในวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 09.30 เป็นต้นไป โดยมีการจัดประชุม ณ ห้องประชุม  1 ชั้น 2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
20 พฤศจิกายน 2567     |      25
ตรวจสอบความเรียบร้อยชุดครุภัณฑ์ภายในอาคารปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมความสำหรับการเรียนการสอน งานวิจัย และบริการวิชาการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลวรรณ ศุภวิญญู รองคณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ - ชุมพร ฝ่ายวิชาการวิจัยและบริการวิชาการ พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้สอนทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจรับและตรวจสอบความเรียบร้อยของชุดครุภัณฑ์ภายในอาคารปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับใช้สนับสนุนการเรียนการสอน งานวิจัย และบริการวิชาการต่อไป
20 พฤศจิกายน 2567     |      36