มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร
Maejo University at Chumphon โทร. 077-544068

      มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ก่อเจดีย์ทราย และเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี

      สงกรานต์สุขใจ “ดื่มไม่ขับ ง่วงจอดพัก เล่นสาดน้ำด้วยความระวัง”

      ประวัติวันสงกรานต์ หรือ วันมหาสงกรานต์ ได้รับอิทธิพลมาจาก “เทศกาลโฮลี” ของประเทศอินเดีย แต่วันสงกรานต์ของไทยเปลี่ยนจากการสาดสี เป็นการสาดน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนในเดือนเมษายน และในอีกแง่หนึ่งมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ดังนั้น การเล่นสาดน้ำและประแป้งกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะไม่ถือโทษโกรธกัน

      คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า “การเคลื่อนย้าย” โดยเชื่อว่าในวันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี อีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ คนไทยจึงยึดถือวันสงกรานต์เป็น “วันขึ้นปีใหม่ไทย” มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่ง พ.ศ. 2483 ก่อนจะปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยม ซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ทั้งนี้ การละเล่นสงกรานต์ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ลาว รวมถึงบางพื้นที่ของเวียดนาม จีน ศรีลังกา และอินเดีย

      กิจกรรมช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ นิยมทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ เล่นสาดน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ คนทำงานต่างจังหวัดหรือไกลครอบครัว ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อฉลองวันปีใหม่ไทย รวมถึงกล่าวคำอวยพร “สุขสันต์วันสงกรานต์” และ “สวัสดีวันสงกรานต์” ให้แก่กัน นอกจากนี้ แหล่งท่องเที่ยวสำหรับจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้วันสงกรานต์ของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

       อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

      ทั้งนี้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564

ปรับปรุงข้อมูล : 13/4/2567 22:35:29     ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 616

กลุ่มข่าวสาร : ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวล่าสุด

ผศ.พาวิน มโนชัย พบปะบุคลากร ถ่ายทอดนโยบายการบริหารงานจากสภามหาวิทยาลัย
      วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบปะบุคลากร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ถ่ายทอดนโยบายการบริหารของสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้      ซึ่งในการพบปะบุคลากรในครั้งนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดี ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งรับฟังปัญหาการปฎิบัติงานของบุคลากรและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข โดยมีอาจารย์ ดร.ฐิระ ทองเหลือ คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร กล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารบุญรอด ศุภอุดมฤกษ์      พร้อมกันนี้ ผู้บริหาร และบุคลากร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ได้ร่วม “รดน้ำดำหัว” แสดงความเคารพต่อผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดี
2 พฤษภาคม 2567     |      14
คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร กิจกรรมปล่อยปลาคาร์ฟ เพื่อพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ปลาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ณ บ่อน้ำ 35 ไร่ ฟาร์มมหาวิทยาลัย
      วันที่ 30 เมษายน 2567 เวลา 17.30 น. อาจารย์ ดร.ฐิระ ทองเหลือ คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร พร้อมด้วยอาจารย์นาตาลี อาร์ ใจเย็น รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและเครือข่ายสัมพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จอมสุดา ดวงวงษา รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ อาจารย์ ดร.ขจรเกียรติ์ ศรีนวลสม รองคณบดีฝ่ายวิชาการและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายชัยวิชิต เพชรศิลา หัวหน้างานบริการวิชาการและวิจัย ดร.ณรงค์ โยธิน หัวหน้างานนโยบายแผนและประกันคุณภาพ นางสาวสายทอง สุจริยาพงศ์พร นักวิชาการโสตทัศนศึกษา นายกฤษฎิ์ พลไทย นักวิชาการประมง นางสาวเกศณีย์ แท่นนิล ประมงจังหวัดชุมพร ตัวแทนศิษย์เก่าแม่โจ้ จังหวัดชุมพร นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร และนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกิจกรรมปล่อยปลาคาร์ฟ เพื่อพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ปลาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ณ บ่อน้ำ 35 ไร่ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร      ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาคาร์ฟ จำนวน 1,500 ตัว จากนายสุชาติ จุลอดุง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร โดยนายกฤษฎิ์ พลไทย นักวิชาการประมง นักวิชาการประมง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
2 พฤษภาคม 2567     |      22
คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร เข้าร่วมกิจกรรมพิธีสวดพระปริตรและเจริญพระพุทธมนต์ บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโซติฯ
      วันจันทร์ ที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 17.00น. อาจารย์ดร.ฐิระ ทองเหลือ คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร พร้อมด้วยนายชาญวิทย์ ขุนทองจันทร์ นักวิชาการศึกษา เข้าร่วมพิธีสวดพระปริตรและเจริญพระพุทธมนต์ บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ณ วัดสวนสมบูรณ์ หมู่ที่ ๗ ตำบลสวนแตง อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
30 เมษายน 2567     |      134
คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร เข้าร่วมประชุมรับรองผลการพิจารณาการอนุญาตหรือเพิกถอนตราหรือสัญลักษณ์ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ณ เกาะพิทักษ์ ศาลากลาง จังหวัดชุมพร
      วันที่ 29 เมษายน 2567 อาจารย์ ดร.ฐิระ ทองเหลือ คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ในฐานะ คณะกรรมการอำนวยการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI (Geographical Indication) จังหวัดชุมพร ประชุมคณะกรรมการอำนวยการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI จังหวัดชุมพร สินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ กล้วยเล็บมือนางชุมพร กาแฟเขาทะลุ กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร และกล้วยหอมทองละแม โดยมีนายวรัตม์ มาประณีต รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานคณะกรรมการ และมีหัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนส่วนราชการเข้าร่วมประชุมฯ เพื่อพิจารณาและรับรองผลการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กล้วยเล็บมือนางชุมพร กาแฟเขาทะลุ กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร และกล้วยหอมทองละแม จำนวน 15 ราย ณ ห้องประชุมเกาะพิทักษ์ ศาลากลางจังหวัดชุมพร ชั้น 3
30 เมษายน 2567     |      314